วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

BIOS คืออะไร

BIOS คืออะไร ทำหน้าที่อะไร ประโยชน์ของ BIOS มีอะไรบ้าง

          BIOS ย่อมาจาก Basic Input Output System คือโปรแกรมที่เก็บไว้ในหน่วยความจำถาวรอย่าง ROM ซึ่งรอมนั้นเป็นหน่วยความจำที่ไม่ต้องมีไฟฟ้าเลี้ยงตัวรอมก็ได้ ข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในรอมก็จะไม่หายไปไหน
          โปรแกรม BIOS เป็นโปรแกรมที่คอมพิวเตอร์จะเรียกใช้งานเป็นโปรแกรมแรก ๆในการเปิดเครื่อง โดยเราจะได้ยินเสียง BIOS ในการเปิดเครื่องทุกครั้ง ซึ่งเสียงทุกเสียงในตอนเปิดเครื่องจะบ่งบอกถึงปัญหาและสภาพของคอมพิวเตอร์

BIOS ที่ใช้งานกันทั่วไปแบ่งเป็น 3 แบบด้วยกันคือ
  1. ไบออสของ Award เป็นไบออสที่นิยมใช้งานที่สุด เพราะมีการออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจในการปรับแต่งต่าง ๆได้ง่ายขึ้น โดยทาง Award นั้นมุ่งเน้นในการผลิตไบออสให้กับเมนบอร์ดเพียงอย่างเดียว
  2. ไบออสของ AMI เป็นไบออสตัวแรก ๆที่มีการใฃ้เมาส์ในการปรับแต่งไบออส ซึ่งต่อมาได้การพัฒนาให้มีการใช้งานง่ายมากขึ้นซึ่งอาจจะเทียบเท่าหรือเหมือนกับ ไบออส Award เลยทีเดียว
  3. ไบออสของ Phoenix เป็นไบออสที่ไม่ค่อยมีตัวเลือกในการปรับแต่ซักเท่าไร ซึ่งส่วนมากแล้วจะใช้งานกับเครื่องที่มียี่ห้อ เพราะว่าไบออสPhoenix จะมีการปรับตั้งค่ามาจากโรงงานผู้ผลิตแล้ว ในปัจจุบันไบออสของ Phoenix ได้รวมกิจการกับ ไบออสของ Award แล้ว
BIOS ทำหน้าที่อะไร
          หน้าที่ของ BIOS หลัก ๆก็คือโปรแกรมขนาดเล็กที่ทำงานเป็นโปรแกรมแรก ซึ่งโปรแกรม BIOS จะทำงานต่ำกว่าระบบปฏิบัติการ ซึ่งไบออสจะคอยตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆในการเชื่อมต่อ อาทิ ฮาร์ดดิกส์ ซีดีรอม เป็นต้น เพื่อตรวจสอบความผิดพลาดต่าง ๆ เมื่อพบความผิดพลาดก็จะรายงานออกมาที่หน้าจอหรือรายงานออกมาเป็นเสียงในตอนเปิดเครื่องก็ได้เช่นกัน

          หลังจากตรวจสอบแล้ว ไบออสจะโหลดระบบปฏิบัติการจากฮาร์ดดิสก์ ไปที่แรม(Ram) หลังจากนั้นไบออสจะทำหน้าที่บริหารจัดการการไหลของข้อมูลระหว่างระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่
ประโยชน์ของ BIOS มีอะไรบ้าง
ประโยชน์ของ BIOS หลักๆ และสามารถแบ่งได้เป็นข้อๆดังนี้
  1. เราสามารถปรับแต่งไบออสภายในเครื่องให้ทำงานอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะทำให้การทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นเร็วขึ้น แต่ถ้าปรับแต่งไบออสมีการผิดพลาดก็จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ค้างได้เหมือนกัน
  2. แก้ปัญหาฮาร์ดแวร์ต่างๆ ซึ่งในบางครั้งมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม แต่ไม่สามารถทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เราสามารถปรับแต่งไบออสเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้เช่นกัน
  3. ไบออสสามารถรายงานผลต่างๆที่เป็นปัญหาออกมาเป็นจังหวะเสียง เพื่อให้ผู้ตรวจสอบพบปัญหาได้ง่ายขึ้นและแก้ไขปัญหานั้นได้ตรงจุด

          โปรแกรม BIOS เป็นโปรแกรมที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าโปรแกรมไบออสเสียหรือใช้งานไม่ได้ เราก็ไม่สามารถที่เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เหมือนกัน ผู้ที่หวังจะเป็นช่างคอมพิวเตอร์ที่เก่งควรมั่นศึกษาเสียงของ BIOS แต่ละยี่ห้อไว้เพื่อจะได้ทำการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

โครงสร้างของระบบปฏิบัติการ

โครงสร้างของระบบปฏิบัติการ

          ระบบปฏิบัติการมีหน้าที่จัดเตรียมสภาวะแวดล้อมเพื่อช่วยให้โปรแกรมทำงานได้ การ ออกแบบถือเป็นงานหลักในการสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ ก่อนการออกแบบจะต้องกำหนดเป้าหมายของระบบขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นจะต้องสร้างอัลกอริทึมที่หลากหลายที่จะเป็นต้องใช้ในการสร้างระบบ แล้วสร้างระบบตามอัลกอริทึมนั้นมีจุดที่น่าสนใจในการพิจารณาระบบปฏิบัติการ 2-3 ประการ ประการแรกให้พิจารณาเซอร์วิสของระบบ ปฏิบัติการที่มีมาให้ ประการที่สองคือการดูที่อินเทอร์เฟซระหว่างผู้ใช้กับโปรแกรมเมอร์ ประการสุดท้ายคือการแยกส่วนประกอบของระบบออกเป็นส่วนย่อย ๆ รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างส่วนย่อย ๆ นั้นด้วย ในหัวข้อนี้ผู้เขียนจะนำคุณเข้าไปสำรวจจุดที่ควรพิจารณาทั้ง 3 ประการของระบบปฏิบัติการเพื่อแสดงมุมมองของผู้ใช้, โปรแกรมเมอร์และผู้ออกแบบระบบ เราจะพิจารณาเซอร์วิสของระบบปฏิบัติการว่ามีอะไรบ้าง แต่ละเซอร์วิสทำอะไรบ้าง รวมถึงวิธีต่าง ๆ ที่ใช้ในการออกแบบระบบ

          คอมโพเนนต์ของระบบ (System Component) 
          เราสามารถสร้างระบบให้ใหญ่โตและซับซ้อนได้ด้วยการแบ่งให้เป็นส่วนย่อย แต่ละส่วนย่อยเหล่านี้เป็นโครงสร้างของระบบที่ออกแบบอินพุต, เอาต์พุต และฟังก์ชัน แต่เดิมนั้นทุกระบบมีคอมโพเนนต์ที่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามระบบสมัยใหม่มีเป้าหมายที่สนับสนุนคุมโพเนนต์ที่เป็นพื้นฐานของระบบปฏิบัติการดังนี้

          การจัดการโปรเซส (Process Management)           ซีพียูทำหน้าที่เอ็กซิคิวต์คำสั่งที่อยู่ในโปรแกรม โปรแกรมที่เอ็กซิคิวต์เป็นโปรเซสแต่เป็นเพียงการกำหนดในเบื้องต้นที่สามารถขยายเพิ่มเติมในอนาคต โดยปกติแล้วงานแบ็ตซ์เป็นโปรเซส การแชร์เวลาของโปรแกรมก็เป็นโปรเชส หรือแม้แต่งานของระบบ เช่น การสพูล เอาต์พุตออกทางเครื่องพิมพ์ ก็เป็นโปรเซสเช่นกัน โปรเซสต้องการรีซอร์สที่แน่นอนเพื่อให้งานเสร็จสมบูรณ์ ทั้งเวลาสำหรับซีพียู, หน่วยความจำ, ไฟล์, และดีไวซ์ที่เป็นอินพุตและเอาต์พุต รีซอร์สเหล่านี้จะนำมาใช้เมื่อมีการสร้างหรือกำหนดให้โปรเซสทำงาน นอกจากนี้เมื่อมีการสร้างโปรเซสก็อาจจะมีการส่งข้อมูลเริ่มต้นไปให้ทั้งรีซอร์สทางกายภาพและทางลอจิก โปรเซสเป็นหน่วยหนึ่งของระบบ โดยปกติระบบจะประกอบด้วยโปรเซสเป็นจำนวนมาก บ้างก็เป็นโปรเซสของระบบปฏิบัติการ (ที่เอ็กซิคิวต์โค้ดของระบบ) ที่เหลือก็เป็นโปรเซสของผู้ใช้ (ที่เอ็กซิคิวต์โค้ดของผู้ใช้) โปรเซสทั้งหมดนี้มีศักยภาพที่จะเอ็กซิคิวต์ไปพร้อม ๆ กันด้วยความซับซ้อนของซีพียูนั่นเอง ระบบปฏิบัติการมีหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการโปรเซสดังนี้

  • การสร้างและลบทั้งโปรเซสของระบบและของผู้ใช้ 
  • การหยุดและทำโปรเซสต่อไป 
  • การจัดเตรียมกลไกสำหรับการซินโครไนซ์โปรเซส 
  • การจัดเตรียมกลไกสำหรับการติดต่อสื่อสารโปรเซส 
  • การจัดเตรียมกลไกการแก้ไข deadlock 

          การจัดการหน่วยความจำ (Memory Managememt)           หน่วยความจำเป็นส่วนสำคัญและเป็นศูนย์กลางการทำงานของระบบปฏิบัติการยุคใหม่ หน่วยความจำเป็นอาร์เรย์ของคำหรือไบต์ โดยที่แต่ละคำหรือไบต์จะมีแอ็ดเดรสที่แน่นอนเป็นของตัวเอง หน่วยความจำเป็นที่เก็บข้อมูลที่ใช้งานร่วมกันของซีพียู และดีไวซ์สำหรับอินพุตและเอาต์พุต เพื่อให้การดึงข้อมูลมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว โปรเซสเซอร์ส่วนกลาง หรือซีพียูจะอ่านคำสั่งจากหน่วยความจำตลอดเวลาในวงรอบการดึงข้อมูล และมีทั้งการเขียนและอ่านจากหน่วยความจำระหว่างวงรอบการดึงข้อมูล การทำงานของอินพุต/เอาต์พุตทั้งการอ่านและเขียนลงหน่วยความจำจะจำผ่าน DMA โดยปกติหน่วยความจำจะเป็นดีไวซ์สำหรับการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่ซีพียูกำหนดแอ็ดเดรสและดึงข้อมูลได้โดยตรง

          การจัดการไฟล์ (File Management)           การจัดการไฟล์เป็นส่วนหนึ่งในคอมโพเนนต์ของระบบปฏิบัติการที่เห็นได้ชัดเจน คอมพิวเตอร์สามารถจัดเก็บในสื่อที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเทปแม่เหล็ก, ดิสก์, ออพติคัลดิสก์ สื่อแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและการจัดทางกายภาพเฉพาะแบบ สื่อแต่ละชนิดจะถูกควบคุมด้วยดีไวซ์ เช่น ดิสก์ไดรฟ์, หรือเทปไดรฟ์ ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะแบบเช่นกัน คุณสมบัติเหล่านี้รวมถึง ความเร็ว, ความจุ, อัตราการถ่ายโอนข้อมูล และวิธีการแอ็กเซสข้อมูล เพื่อความสะดวกในการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์นั้น ระบบปฏิบัติการได้กำหนดชื่อทางลอจิกว่า “ไฟล์” เพื่อเป็นชื่อแทนกลุ่มข้อมูลที่จัดเก็บในสื่อทางกายภาพ โดยที่ระบบปฏิบัติการจะแมพไฟล์ไปยังสื่อทางกายภาพและแอ็กเซสไฟล์ผ่านทางดีไวซ์ที่จัดเก็บข้อมูลนั้น ทำให้คุณใช้ชื่อไฟล์เพื่อกำหนดสิ่งที่คุณต้องการดูข้อมูลได้ทันที ไฟล์จะเป็นชุดของข้อมูลที่สัมพันธ์กันซึ่งถูกกำหนดชื่อโดยผู้สร้างไฟล์นั้น โดยปกติแล้ว ไฟล์จะแสดงโปรแกรมและข้อมูล ไฟล์ข้อมูลอาจจะเป็นตัวเลข, ตัวอักษร หรือทั้งตัวเลขและตัวอักษร ไฟล์อาจจะเป็นรูปแบบอิสระ เช่น เท็กซ์ไฟล์ หรืออาจจะเป็นรูปแบบที่ตายตัว ไฟล์ประกอบด้วยชุดของบิต, ไบต์, หรือเรกคอร์ดตามที่ผู้สร้างกำหนด ระบบปฏิบัติการมีหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการไฟล์ดังนี้

  • สร้างและการลบไฟล์ 
  • สร้างและการลบไดเรกทอรี 
  • สนับสนุนการจัดการไฟล์ในรูปแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมา 
  • แมพไฟล์ไปยังสิ่งที่ใช้จัดเก็บข้อมูล 
  • แบ็คอัพหรือสร้างไฟล์สำรอง 

          การจัดการอินพุต/เอาต์พุต 
          การออกแบบระบบปฏิบัติการมีจุดมุ่งหมายข้อหนึ่งเพื่อควบคุมดีไวต์ที่เชื่อมต่ออยู่กับ คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เนื่องจากดีไวซ์เหล่านั้นมีความหลากหลายในเรื่องฟังก์ชันและความเร็ว การควบคุมจำเป็นต้องใช้วิธีการที่หลากหลายเช่นกัน วิธีการควบคุมเหล่านี้เรียกว่า “ระบบย่อยอินพุต/เอาต์พุต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ kernel ที่แยกจากการจัดการหน่วยความจำที่ซับซ้อนในระบบเทคโนโลยีทางด้านดีไวซ์ได้แสดงให้เห็นข้อที่แย้งกัน 2 ด้าน ด้านแรกเทคโนโลยีทางด้านดีไวซ์ทำให้เราเห็นมาตรฐานที่มีการพัฒนาอินเทอร์เฟซของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่เพิ่มมากขึ้น การพัฒนาทางด้านนี้ทำให้เรามีส่วนร่วมในปรับปรุงเพื่อพัฒนาดีไวซ์เพื่อนำมาใช้งานได้มากขึ้น ส่วนทางด้านอื่นเราได้เห็นดีไวซ์ที่มีความหลากหลายในการเลือกใช้ดีไวซ์ใหม่บางชิ้นก็ไม่เหมือนเดิมที่มีอยู่ เป็นสิ่งท้าทายที่ทำให้เราสามารถเลือกดีไวซ์ที่ต่างประเภทกันเพื่อใช้ระบบคอมพิวเตอร์และระบบปฎิบัติการเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอินพุต/เอาต์พุตพื้นฐานเช่น พอร์ต, บัส และดีไวซ์ที่หลากหลายเพียงใด ระบบปฏิบัติการมี kernel ที่จัดการกับดีไวซ์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี kernel ของระบบปฏิบัติการก็คือโครงสร้างที่ใช้โมดูล “ดีไวซ์ไดร์เวอร์” ดีไวซ์ไดร์เวอร์ได้แสดงถึงรูปแบบเฉพาะในการอินเทอร์เฟซระหว่างดีไวซ์กับระบบย่อยอินพุต/เอาต์พุต ในขณะที่ระบบจะมีอินเทอร์เฟซมาตรฐานระหว่างแอปพลิเคชันกับระบบปฏิบัติการอยู่แล้วนั่นเอง

ระบบย่อยอินพุต/เอาต์พุตประกอบด้วย 
  • การจัดการหน่วยความจำที่รวมทั้งบัพเพอร์ ,แคช และสพูล 
  • อินเทอร์เฟซพื้นฐานของดีไวซ์ไดร์เวอร์ 
  • ไดร์เวอร์สำหรับดีไวซ์ที่มีรูปเฉพาะ 

          การจัดการสื่อจัดเก็บข้อมูล (Storage Management)           เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของระบบคอมพิวเตอร์คือการเอ็กซิคิวต์โปรแกรม ในระหว่างการเอ็กซิคิวต์โปรแกรมรวมทั้งข้อมูลเหล่านี้จะใช้ต้องอยู่บนหน่วยความจำหลัก แต่เนื่องจากหน่วยความจำหลักเหล่านี้มีขนาดเล็ก และเนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีไฟฟ้าหล่อเลี้ยง ถ้าไม่มีไฟฟ้าข้อมูลบนหน่วยความจำหลักก็จะสูญหายไปด้วย สิ่งนี้เองที่ระบบคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีสื่อจัดเก็บข้อมูล เพื่อถ่ายข้อมูลจากหน่วยความจำหลักมาเก็บไว้ก่อน เพื่อสะดวกในการใช้งานภายหลัง ปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะใช้ดิสก์เป็นสื่อในการจัดเก็บข้อมูลทั้งโปรแกรมและข้อมูล โปรแกรมส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นตัวคอมไพล์, ตัวเอดิเตอร์, ตัวแปลภาษา และอื่น ๆ จะถูกโหลดขึ้นสู่หน่วยความจำหลักก่อน เพื่อทำงานกับหน่วยความจำโดยตรง และมีการจัดเก็บข้อมูลเป็นระยะเมื่อคุณสั่งให้จัดเก็บและระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันที่มีระบบปฏิบัติการที่ทรงประสิทธิภาพจะมีการแปลงหน่วยจัดเก็บข้อมูลบนดิสก์ให้เป็นหน่วยความจำเสมือน ตลอดเวลาที่มีการใช้งาน และจะคืนสภาพทั้งหมดให้กับระบบก่อนการชัตดาวน์ระบบ การจัดการสื่อจัดเก็บข้อมูลที่เป็นความรับผิดชอบของระบบปฏิบัติการมีดังนี้

  • จัดการเนื้อที่ว่างบนดิสก์ 
  • จัดการตำแหน่งจัดเก็บข้อมูล ที่อาจจะกระจัดกระจาย แต่เมื่อมีการใช้งานจะต้องทำงานได้เร็ว โดยจะมีพอยเตอร์ชี้ไปยังกลุ่มข้อมูลเดียวกัน 
  • การจัดแบ่งเวลาการใช้ดิสก์

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

Multipocessor System

ระบบมัลติโปรเซสเซอร์ (Multipocessor System)

          ระบบส่วนมากจะใช้โปรเซสเซอร์เพียงตัวเดียว หรือใช้ซีพียูหลักเพียงหนึ่งตัวนั่นเอง แต่ก็มีระบบที่ใช้โปรเซสเซอร์มากกว่าหนึ่งตัวที่เรียกว่า “ระบบมัลติโปรเซสเซอร์” ระบบในลักษณะนี้จะใช้การติดต่อสื่อสารในระยะใกล้, มีการใช้บัส (bus), สัญญาณนาฬิกา (clock) ,หน่วยความจำ และดีไวซ์ร่วมกัน มีเหตุผลหลายประการที่ใช้มัลติโปรเซสเซอร์ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลดังนี้

  • เพิ่มประสิทธิภาพของเอาต์พุต การที่ใช้ระบบมัลติโปรเซสเซอร์จะทำให้ได้เอาต์พุตเร็วขึ้น ใช้เวลาน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าใช้ N โปรเซสเซอร์ แล้วงานจะเสร็จเร็วขึ้น N เท่า แต่น้อยกว่า N แน่นอน 
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกับระบบโปรเซสเซอร์เดี่ยวหลายระบบ ทั้งนี้เนื่องจากในระบบมัลติโปรเซสเซอร์สามารถแบ่งปันดีไวซ์ต่าง ๆ ได้ ถ้าโปรแกรมต่าง ๆ ต้องการข้อมูลชุดเดียวกันจะเป็นการประหยัดเมื่อเก็บไว้บนดิสก์เดียวกันแล้วแชร์ให้ใช้งานร่วมกันดีกว่าการใช้ดิสก์ระบบละหนึ่งตัวโดยมีข้อมูลชุดเดียวกัน 
  • ความน่าเชื่อถือของระบบ เนื่องจากถ้ามีโปรเซสเซอร์ใดทำงานผิดพลาด หรือทำงานไม่ได้ โปรเซสเซอร์ตัวอื่นก็สามารถทำงานทดแทนได้ทันที โดยรับส่วนแบ่งมาช่วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าระบบใช้โปรเซสเซอร์ 10 ตัว แล้วมีตัวหนึ่งที่ไม่ทำงาน โปรเซสเซอร์อีก 9 ตัวจะแบ่งงานของตัวนั้นไปทำต่อ ซึ่งถึงแม้ว่าระบบจะช้าลงไป 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ดีกว่าทำงานไม่ได้ทั้งระบบ การกระทำลักษณะนี้เรียกว่า “Graceful Degradation” ส่วนระบบที่ออกแบบมาสำหรับ Graceful Degradation นี้เรียกว่า “Fault-Tolerant”

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

โปรแกรมจำลองเครื่องคอมพิวเตอร์ Virtualbox

โปรแกรมจำลองเครื่องคอมพิวเตอร์ Virtualbox




1. Virtualbox คืออะไร
          Virtualbox เป็นโปรแกรมจำลองเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาอีกเครื่องหนึ่งภายในเครื่องของเรามีการแบ่งทรัพยากร  เช่น  CPU,RAM,HDD,VGA  memory  จากเครื่องหลักไปยังเครื่องที่จำลอง  วุตถุประสงค์เพื่อลงระบบปฏิบัติการ  หรือ OS  อีกตัวหนึ่งเอาไว้ใช้งานบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เรามีโปรแกรมที่ต้องใช้งานอยู่เป็นประจำที่มันรันได้เฉพาะบน Windows XP เท่านั้น แล้ววันหนึ่งคอมเก่าเราเสียหรือมีเหตุอันใดที่ต้องเปลี่ยนมาใช้ Vista หรือ 7 แล้วเราต้องใช้โปรแกรมนั้นด้วย เราก็ใช้เจ้า Virtual box นี่แหละในการจำลองคอมพิวเตอร์ขึ้นมาอีกเครื่องหนึ่งภายใต้ Windows 7 แล้วติดตั้ง Windows XP ลงไปแล้วก็ทำงานกับโปรแกรมที่เรามีอยู่ได้ 

2.  โปรแกรมที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับ Virtualbox  มีอะไรบ้าง
  • โปรแกรม VM Ware
  • Emulator  คืออะไร
          Emulator  คือ โปรแกรมจำลองเครื่องจักรเสมือน เป็นโปรแกรมที่จะจำลองการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆบน PC Computer เช่น Emulator ที่ใช้จำลองเครื่องเล่นเกมอย่าง Play station ให้เล่นได้บน PC computer หรือ Emulator ที่ใช้จำลองการทำงานของมือถือบน PC computer 

NTFS และ FAT

การเปรียบเทียบระบบแฟ้มระหว่าง NTFS และ FAT

          ระบบแฟ้มคือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่คอมพิวเตอร์ใช้ในการจัดระเบียบข้อมูลที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์ ถ้าคุณกำลังติดตั้งฮาร์ดดิสก์ใหม่ คุณจำเป็นต้องแบ่งพาร์ติชันและฟอร์แมต ฮาร์ดดิสก์ดังกล่าวโดยใช้ระบบแฟ้มก่อนที่คุณจะเริ่มการจัดเก็บข้อมูลหรือโปรแกรมได้ ใน Windows ตัวเลือกระบบแฟ้มสามชนิดที่คุณต้องเลือกได้แก่ NTFS, FAT32 และ FAT โดย FAT เป็นระบบแฟ้มที่เก่ากว่าและไม่ค่อยมีการใช้กัน (หรือที่รู้จักกันว่า FAT16)

NTFS

NTFS เป็นระบบแฟ้มที่ต้องการสำหรับ Windows รุ่นนี้ NTFS มีข้อดีที่เหนือกว่าระบบแฟ้ม FAT32 รุ่นก่อนหน้าหลายประการ ได้แก่
  • ความสามารถในการกู้คืนโดยอัตโนมัติจากข้อผิดพลาดบางอย่างที่เกี่ยวกับดิสก์ ในขณะที่ FAT32 ไม่สามารถทำได้
  • การสนับสนุนที่ได้รับการปรับปรุงสำหรับฮาร์ดดิสก์ที่ใหญ่ขึ้น
  • ความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากคุณสามารถใช้สิทธิ์และ การเข้ารหัสลับ เพื่อจำกัดการเข้าถึงแฟ้มบางแฟ้มสำหรับผู้ใช้ที่ได้รับการอนุมัติเท่านั้น

FAT32

          FAT32 และ FAT ที่ใช้กันน้อยกว่าถูกใช้ในระบบปฏิบัติการของ Windows รุ่นก่อนหน้านี้ รวมถึง Windows 95, Windows 98 และ Windows Millennium Edition FAT32 ไม่มี ความปลอดภัยที่ระบบ NTFS จัดให้ ดังนั้นถ้าคุณมี พาร์ติชัน หรือ ไดรฟ์ข้อมูล ของ FAT32 ในคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้รายใดที่ได้เข้าถึงคอมพิวเตอร์ของคุณจะสามารถอ่านแฟ้มใดๆ ก็ได้บนระบบแฟ้มนี้ FAT32 ยังมีข้อจำกัดด้านขนาด คุณ ไม่สามารถสร้างพาร์ติชันของ FAT32 ที่มากกว่า 32GB ใน Windows รุ่นนี้ได้ และคุณไม่สามารถเก็บแฟ้มที่มีขนาดใหญ่กว่า 4GB บนพาร์ติชันของ FAT32 ได้
          เหตุผลสำคัญที่ใช้ FAT32 ก็เนื่องจากคุณมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวที่บางครั้งเรียกใช้งาน Windows 95, Windows 98 หรือ Windows Millennium Edition และในช่วงเวลาอื่นได้เรียกใช้งาน Windows รุ่นนี้ ซึ่งเรียกกันว่า การกำหนดค่าแบบ มัลติบูต หากเป็นกรณีเช่นนี้แล้ว คุณจะต้องติดตั้งระบบปฏิบัติการรุ่นก่อนหน้านี้บนพาร์ติชัน FAT32 หรือ FAT และตรวจสอบให้แน่ใจว่าพาร์ติชันดังกล่าวเป็น พาร์ติชันหลัก (ที่สามารถโฮสต์ระบบปฏิบัติการได้) พาร์ติชันเพิ่มเติมที่คุณจะต้องเข้าถึงเมื่อใช้ Windows รุ่นก่อนหน้านี้ก็จะต้องได้รับการฟอร์แมตด้วยระบบแฟ้ม FAT32 ด้วย ทั้งนี้ Windows รุ่นก่อนหน้าเหล่านี้สามารถเข้าถึงพาร์ติชัน NTFS หรือไดรฟ์ข้อมูลผ่านทางเครือข่ายได้ ไม่ใช่บนคอมพิวเตอร์ของคุณ

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

OpenSource คืออะไร

          OpenSource คือ กลุ่ม software ที่เปิดเผย source code ของโปรแกรม ทำให้สามารถแก้ไข ดัดแปลง source code ได้หมด ซึ่งเป็นการให้สิทธิเสรีแก่ผู้ที่จะนำไปใช้เพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกันใน ลักษณะของสังคมซอฟต์แวร์

ข้อดีของโปรแกรมแบบ OpenSource 
  1. Open Source เป็นโปรแกรมที่เปิดให้ใครก็ได้บนโลกนี้สามารถเข้ามาพัฒนาโปรแกรมได้ ดังนั้นจึงมีนักพัฒนาโปรแกรมหลายคน จึงทำให้โปรแกรมมีประสิทธิภาพสูง
  2. Open Source ช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์
ตัวอย่างโปรแกรมที่เป็น Open Source ก็อย่างเช่น PHP , My SQL, Star Office เป็นต้น นอกจากโปรแกรมแล้ว ยังมีระบบปฏิบัติการ Open Sorce อย่างระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาใช้ทดแทนวินโดวส์ของไมโครซอฟต์นั่นเอง

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

Time-Sharing System

ระบบแบ่งเวลา (Time-Sharing System)

          ในสมัยแรกเริ่มของการใช้คอมพิวเตอร์ ผู้ใช้จะต้องจองเวลาและครอบครองเครื่องนั้นแบบสมบูรณ์แต่เพียงผู้เดียว นั่นหมายความว่าผู้ใช้นั้นสามารถทำอะไรก็ได้ในเวลาที่เขาครอบครองอยู่ แต่เนื่องจากเครื่องมีราคาแพงและความต้องการที่ใช้คอมพิวเตอร์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด แทนที่จะให้ผู้ใช้มานั่งคิดและแก้ไขปัญหาหน้าคอมพิวเตอร์นั้น ทำให้ผู้ใช้ต้องเซ็ตอัพการ์ดควบคุมให้ครอบคลุมผลลัพธ์ทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เป็นผลให้ผู้ใช้แทบจะไม่ได้เห็นคอมพิวเตอร์เลย ทำให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยระบบแบ่งเวลา (Time-Sharing) หรือมัลติทาสกิ้ง (Multitasking) เป็นศาสตร์ที่ขยายระบบมัลติโปรแกรมมิ่ง ที่ทำให้สามารถรันโปรแกรมได้หลายงาน โดยซีพียูจะทำหน้าที่สับเปลี่ยนการรันงานไปมา แต่การสับเปลี่ยนทำด้วยความเร็วสูงทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกเหมือนอินเทอร์แอ็กทีฟโดยตรง (Interactive) กับโปรแกรมของตนเองระบบแบ่งเวลาเป็นอินเทอร์แอ็กทีฟที่ผู้ใช้จะติดต่อโดยตรงกับเครื่องผ่านทางเทอร์มินอล (terminal) ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์รับข้อมูล ( เช่น เมาส์, คีย์บอร์ด) และอุปกรณ์แสดงผล (เช่น จอภาพ เครื่องพิมพ์) ผู้ใช้สามารถสั่งให้ระบบ หรือโปรแกรมทำงานได้ทันที (หรืออาจจะล่าช้าไปบ้างทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับ ขนาดของงาน, ขีดความสามารถของเครื่อง, ปริมาณงานในระบบ และลำดับความสำคัญของงานก่อนหลัง เป็นต้น) ระบบปฏิบัติการที่มีการแบ่งเวลาจะต้องมีการจัดเวลาซีพียูและมัลติโปรแกรมมิ่งเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อติดต่อกับโปรแกรมของผู้ใช้ที่โหลดไว้บนหน่วยความจำ ซึ่งในขณะที่ประมวลผลอาจจะมีความจำเป็นต้องติดต่ออุปกรณ์ภายนอกทำให้การประมวลผลหยุดชะงักเนื่องจากความเร็วของซีพียูและความเร็วของอุปกรณ์ไม่เหมาะสมกัน แทนที่จะให้ซีพียูหยุดรอ ระบบปฏิบัติการจะสับเปลี่ยนให้ซีพียูทำโปรแกรมส่วนอื่นต่อไป ระบบปฏิบัติการแบบแบ่งเวลาจะมีความซับซ้อนกว่าระบบปฏิบัติการแบบมัลติโปรแกรมมิ่ง โดยระบบมัลติโปรแกรมมิ่งจะโหลดโปรแกรมหลายโปรแกรมไว้บนหน่วยความจำพร้อมกัน แต่เนื่องจากความจำมีน้อยทำให้มีการนำไปเก็บบนดิสก์เพิ่มเติม และเพื่อให้เวลาตอบสนอง (response time) อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ระหว่างที่มีการเปลี่ยนไปมาระหว่างหน่วย ความจำกับดิสก์ ทำให้ต้องมีการจัดการจัดการ สำหรับเป้าหมายนี้โดยใช้หน่วยความจำเสมือน (Virtual Memory) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้การประมวลผลของงานดำเนินได้ทั้งที่อาจจะมีหน่วยความจำไม่เพียงพอ ซึ่งข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดคือโปรแกรมสามารถมีขนาดใหญ่กว่าหน่วยความจำทางกายภาพ แต่ในระบบแบ่งเวลาจะต้องมีการจัดการระบบไฟล์ ระบบไฟล์ต้องอาศัยดิสก์ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการ นอกจากนี้ระบบแบ่งเวลาต้องมีกลไกในการประมวลผลพร้อมกันหลายโปรแกรม ซึ่งจะต้องมีการจัดเวลาซีพียู ต้องมีการจัดลำดับงาน เพื่อให้มั่นใจได้ถึงลำดับงานที่ถูกต้องนั่นเอง รวมถึงปัญหาขัดแย้งอุปกรณ์ในลักษณะ deadlock ทั้งมัลติโปรแกรมมิ่งและระบบแบ่งเวลาเป็นศาสตร์ของระบบปฏิบัติการยุคใหม่ที่น่าติดตาม